Trip ฮาลา – บาลา 2 วัน 1 คืน ด้วยเงินคนละ 1,500 บาท [หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๙]

สิ่งที่เพื่อนๆ จะได้เดินทางร่วมกับเราไปในทริปนี้ คือการพักแรมในหมู่บ้านกลางป่าดิบชื้นที่เป็นผืนป่าในดินแดนใต้สุดของประเทศไทย เป็นป่าดิบชื้นที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น Amazon Of ASEAN ผู้คนในหมู่บ้านแห่งนี้ หากย้อนไปหลายสิบปี เขาคือคอมมิวนิสต์ ที่ถูกคุกคามจากฝั่งมาลายู ญี่ปุ่น และกลุ่มคนที่สนับสนุนอังกฤษในช่วงสงครามโลกที่สอง จนดั้นด้นขึ้นมาหลบอยู่ในประเทศไทยใจกลางป่าที่มีชื่อว่า ” ฮ า ล า – บ า ล า ”

ทริปนี้เราจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับป่าฮาลาบาลา และหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๙ จะเป็นให้เพื่อนๆ เห็นความสำคัญาของผืนป่า ชีวิต และนำเสนอว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ซึ่งการเดินทางมาที่นี่นั่น ไม่มีรถประจำทางเข้ามาถึง เพื่อนๆ จะต้องเช่ารถขับมา หรือให้คนในหมู่บ้านขับรถออกไปรับเรา การเดินทางอาจยากหน่อย แต่คุ้มค่ากับสิ่งที่่เราจะได้สัมผัสใน Chapter ถัดไปแน่นอน

ซึ่งไม่ว่าเพื่อนๆ จะเดินทางมายังไง เราขอเปรียบเทียบระยะทางจากจุดสำคัญสองจุดให้เพื่อนๆ ได้เห็นก่อนว่า ต้องใช้เวลาคร่าวๆ ยาวนานเพียงใด อย่างถ้าบินมาลงหาดใหญ่ (Songkhla Airport) ก็อาจจะต้องเดินทางต่อมาอีกกว่า 200 กิโลเมตร ใช้เวลาราวๆ 4 ชั่วโมงกว่าจะถึงหมู่บ้าน แต่หากบินมาลงนราธิวาส (Narathiwat Airport) เพื่อนๆ ก็อาจจะร่นเวลาการเดินทางลงมาได้เกือบ 1 ชั่วโมงเลยล่ะ

แต่ไม่ว่าจะเดินทางอย่างไรก็ขอให้ไปถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัยนะครับ ใครที่รู้ตัวว่าเมารถง่าย ทานยาแก้เมารถดักไว้ก่อนเลย เพราะระยะทางบวกกับทางที่ไปนั้นอย่างที่เห็นในภาพครับ และระหว่างทางที่ไป เราจะขับลัดเลาะเรียบไปตามแนวเขื่อนบางลางไปเรื่อยๆ จนถึงหมู่บ้านฯ เลยล่ะ เพื่อนๆ สามารถแวะชมความสวยงามบนจุดชมวิวของตัวเขื่อนได้นะ เราก็แวะเหมือนกัน

ตัวเขื่อนบางลางเนี่ย เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง 85 เมตร สันเขื่อนยาว 430 เมตร กว้าง 10 เมตร อ่างเก็บน้ำจุได้ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อน 2,080 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,300,000 ไร่ตั้งอยู่ที่ ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำสันติ ที่ควบคุมแบบอัตโนมัติ โรงไฟฟ้าขนาด 1,275 กิโลวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง และท่อส่งน้ำยาว 1,800 เมตร สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 6 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถสั่งการและควบคุมเดินเครื่องได้โดยตรงจากโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง ถือว่าเป็นอีกจุดสำคัญของวิถีชีวิตชุมชนบริเวณแห่งนี้เลยนะ

จากสนามบินดอนเมือง สู่นราธิวาส จากนราธิวาส เช่ารถขับต่อมาจนถึงหมู่บ้านฯ ก็หมดไปเกือบหนึ่งวันเต็มแล้วครับ เพราะฉะนั้น หากใครจะมาที่นี่ ให้เผื่อวันเดินทางไปและกลับไปเลยสักสองวัน ทริปจะได้ไม่แน่นมาก และสามารถจอดแวะข้างทางเที่ยวได้ด้วย  ซึ่งทริปนี้ กลุ่มชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๙ เขาขายทริปเพียงแค่คนละ 1,500 บาท รวมที่พัก อาหารสามมื้อ รถเดินทางไประหว่างจุด ประกันเดินทางและไกด์ชุมชนนำเที่ยวเรียบร้อยแล้ว หากเพื่อนๆ จะตีค่าใช้จ่ายทั้งทริป ก็ต้องเอาราคาเดินทางจากกรุงเทพ + ค่ารถมาหมู่บ้าน + ตัว Package ชุมชน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็จะได้ค่าทริปทั้งหมด ซึ่งใน Content นี้ ก็เกริ่นไปแล้วว่าจะพูดถึงแค่ตัว Package ทริป 2 วัน 1 คืน ของชุมชนที่จัดหัวละ 1,500 บาทครับผม

พอเราไปถึงก็มีน้องหมาสองตัววิ่งมารับเลยครับ น่ารักมากๆ คืนนี้เรานอนที่โฮมสเตย์ของชาวบ้านครับ เป็นบ้านของชาวบ้าน ที่แบ่งมาให้เรานอนพักกันคืนนี้สองห้อง ไม่มีแอร์ ไม่มีพนักงานต้อนรับเหมือนโรงแรม ไม่มีบริการแบบเอาอกเอาใจ มีแต่รอยยิ้มและการต้อนรับที่ดีของทุกคนทั้งหมู่บ้านครับ Feeling คือดีมากๆ และนี่คือห้องนอนเราในทริปนี้ครับ

เก็บของเสร็จก็ไปฟัง Brief Trip กันก่อนเลย ซึ่งหลักๆ ทริปนี้เราจะได้รับการต้อนรับจากสามหนุ่มน้อยครับ มีหลินปิง โก้ และก็อาฉี ทุกคนเป็นวัยรุ่นครับ พูดกวนบ้างตามภาษาเด็ก แต่ก็น่ารักทุกคน โดยหลักๆ คนที่ผมติดต่อมาตลอดทริปก็คือน้องหลินปิงนี่แหละ เช่นเดียวกัน หากเพื่อนๆ สนใจทริปท่องเที่ยวของหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๙ ก็สามารถติดต่อกับน้องหลินปิงได้โดยตรงที่เบอร์นี้เลย 0971175567 เอาล่ะ มาดูตารางทริปของเราสำหรับวันแรกกัน

DAY 1

12.00 น. เจอกันที่หมู่บ้านฯ ฟัง Brief และทานข้าวเที่ยง

13.00 น. นั่ง 4×4 ไปจุดเดินป่าฮาลาบาลา

13.30 น. เริ่มเดินป่า ไปยังน้ำตกฮาลาซะห์

15.30 น. นั่ง 4×4 จากจุดสุดท้ายของการเดินป่า ไปยังท่าเรือหมู่บ้านฯ

16.00 น. ล่องเรือหางยาวไปยังอ่างน้ำใส

19.00 น. ทานข้าวเย็น

20.00 น. พักผ่อน หรือหากฟ้าเปิด สามารถถ่ายดาวได้

เพื่อนๆ น่าจะได้ฟัง Brief Trip กันไปเรียบร้อยแล้ว มาถึงมื้ออาหารเที่ยงมื้อแรกของเราที่นี่ บอกเลยว่าเกินคาดมากๆ ทุกอย่างอร่อย และที่สำคัญคือ วัตถุดิบทุกอย่างไม่ได้ไปซ๋ื้อหามาจากไหน จากใกล้ๆ แถวนี้นี่แหละ อย่างปลานิลใจจานคือจับมาจากอ่างเก็บน้ำเลย พืชผักต่งๆ ก็หาเอาจากหมู่บ้านนี่ พอพูดถึงเรื่องรสชาติละก็ ขอข้าวเพิ่มอีกจานฮ๊ะ!!!

กินคาวไม่กินหวาน สันดานไพร่ บอกเลยว่าผมชอบทุเรียนมากๆ แล้วคือที่นี่นะ ทุเรียนโลละ 20 – 30  บาท เผลอๆ คือเก็บกินข้างทางก็ได้ เพราะชาวบ้านแถวนี้ปลูกทุเรียนกันเป็นว่าเล่น แล้วรู้อะไรไหม ที่นี่เค้าไม่ตัดทุเรียนมาบ่มนะ เค้าต้องรอให้มันตกมาเอง ถึงจะเอามากินกัน ทุเรียนที่นี่เป็นทุเรียนบ้าน รสชาติคือประมาณชะนี บอกเลยว่าเพลินสุด

มากไปกว่านั้น หากเดินไปตามหมู่บ้าน จะเห็นชาวบ้านเอาของที่หามาได้แบบวันต่อวันมาฝากขายที่โครงการ //พูดเหมือนหมู่บ้านใหญ่เลย ก็จะเป็นพวกผลไม้หลังบ้านนั่นแหละ บวกกับของที่ทำเป็นคล้ายๆ OTOP มาวางขายกัน อย่างกล้วยที่นี่เค้าไม่มีหรอกนะ น้ำหว้าอะไรนั่น เค้ากินกล้วยหินกัน ยังไงใครมีโอกาสไป ก็ลองดู

พอกินอิ่มหนังตาก็เริ่มหย่อนครับ แต่จะนอนตอนนี้ไม่ได้ เพราะเรายังมีอีกสองกิจกรรมหลักๆ ในช่วงบ่ายวันนี้ นั่นก็คือการเดินป่าไปน้ำตกฮาลาซะห์ และจบทริปที่คลองน้ำใสในช่วงเย็น น้องๆ เรียกพวกเราขึ้นรถ และขับไปที่จุดเดินเท้ากลางป่าที่ไม่ไกลจากตัวหมู่บ้านมากนัก

จริงๆ แล้วหมู่บ้านแห่งนี้ก็อยู๋ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาครับ เป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งในประเทศไทย ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศ เป็นผืนป่าที่ประกอบไปด้วยผืนป่าสองผืน คือ ป่าฮาลา ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และ ป่าบาลา ในพื้นที่อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส แม้ป่าทั้งสองผืนนี้จะไม่ได้ติดเป็นป่าผืนเดียวกัน แต่ทว่าในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าร่วมกัน

ซึ่งคำว่า “บาลา” มาจากคำว่า “บาละห์” ที่แปลว่า “หลุด” หรือ “ปล่อย” มีที่มาจากช้างเชือกหนึ่งที่หนีเข้าป่าฝั่งอำเภอแว้ง และคำว่า “ฮาลา” หมายถึง “อพยพ” คือผู้คนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากตัวเมืองปัตตานีในอดีต จนมาอาศัยอยู่เป็นชุมชนรอบ ๆ ชายป่า โดยป่าแห่งนี้อาจเรียกชื่อสลับกันได้ว่า บาลา-ฮาลา ผู้คนที่อยู่ในอำเภอแว้งจะเรียกว่า “บาลา-ฮาลา” แต่คนที่อาศัยในอำเภอเบตงจะเรียกว่า “ฮาลา-บาลา” สรุปคือ สามารถวางสลับกันได้

การเดินป่าทริปนี้ที่วางไว้คือจะเดินเข้าป่า แล้วเรียบริมน้ำไปเรื่อยๆ มีจุดที่ต้องข้ามแม่น้ำสายเล็กๆ ประมาณ 2 จุด ซึ่งระยะเวลาที่เดินทาง ทางชุมชนเฉลี่ยไว้ว่าใช้ราวๆ 3 ชั่วโมงในการเดินป่ารูทนี้ครับ ซึ่งระหว่างทางชุ่มชื้นมาก มีร่องรอยของสัตว์ป่าอาศัยให้เห็นอยู่อย่างชัดเจน ถึงแม้จะไม่เห็นตัว รวมถึงพืชพันธุ์นานาไพรที่แปลกตาและดูสมบูรณ์ขั้นสุดเลยทีเดียว

ดูจากภาพด้านบนแล้วผมคงไม่ต้องพูดอะไรมากเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของป่าแห่งนี้ ซึ่งเมื่อพูดถึงการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพบว่าป่าแห่งนี้มีทั้งหมด 54 ชนิด หลายชนิดเป็นสัตว์ป่าที่หายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น กระทิง, เซียมมัง หรือชะนีดำใหญ่ ซึ่งเป็นไพรเมทจำพวกชะนีขนาดใหญ่ ที่แพร่พระจายพันธุ์ในคาบสมุทรมลายูจนถึงเกาะสุมาตรา โดยพบที่นี่เป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย นอกจากนี้แล้วยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกจำนวน 10 ชนิด จากทั้งสิ้น 13 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย โดยเฉพาะนกเงือกกรามช้างปากเรียบ หนึ่งในชนิดของนกเงือกกรามช้าง ที่อพยพบินรวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ จำนวน 10–20 ตัว จากป่าห้วยขาแข้งในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก มายังที่นี่ในพื้นที่อำเภอเบตง ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยรวมจำนวนนกทั้งหมดแล้วมีประมาณ 500 และการสำรวจล่าสุดพบมากถึง 2,000 ตัวเลยทีเดียว

และรวมถึงเจ้าทากด้วย มันไม่แปลกที่จะมีทากที่นี่ครับ เพราะป่ามันสมบูรณ์ขนาดนี้ ฉะนั้นใครจะมาเดินป่าที่นี่ ก็แต่งตัวมาให้ดีๆ ถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นคนกลัวทาก แต่สำหรับผม ขาสั้นเสื้อกล้าม ก็เอาอยู่ครับ โดนกัดหน่อย ก็ถือว่ามาบริจาคเลือดนอกสถานที่ไปแล้วกัน จากที่เค้าบอกว่าต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมง เอาเข้าจริงๆ เราเดินกันแค่ชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงจุด Highlight ของรูทเดินป่าทริปนี้กันแล้ว

น้ำตกฮาลาซะห์ เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 100 เมตร เหมาะแก่การดูนกเงือก ชมใบไม้สีทอง ศึกษาวิถีชีวิตชนเผ่าซาไก นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงยังมีน้ำตกจิ้งจก น้ำตกกิตติโชควัฒนา น้ำตกจุฬาภรณ์พัฒนาฯ น้ำตกบ้านเก้า อาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โจรจีนคอมมิวนิสต์ มลายาและโป่งดินที่สัตว์ลงมาหากินอีกด้วยนะ ซึ่งน้องๆ บอกว่าตัวน้ำตกมีอยู่สามชั้น ชั้นที่สวยที่สุดคือชั้นที่สอง แต่ไม่อนุญาตให้ขึ้นไป เพราะอันตรายมาก

เราทำเวลากันได้ดีครับ จากตรงนี้ ก็จะมี 4×4 ของน้องๆ มารับไปตั้งหลักกันที่ 7-11 แห่งเดียวของหมู่บ้าน นั่นก็คือร้านขายของชำที่มีที่เดียวในหมู่บ้านนี่แหละ เป็นคุณตากับคุณยายนั่งขายกันสองคนกับน้องแมวเหมียวน่ารักๆ สองตัว ใครมาอย่าลืมมาอุดหนุนคุณตาคุณยายด้วยล่ะ

และที่น่ารักของร้านนี้คือ แม้ว่าร้านจะอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง แต่ก็ยังคงราคาขายปลีกให้คนในชุมชนได้ซื้อกันอย่างราคา Standard ครับ ไม่มีเพิ่มกำไรอะไรเลย ทุกอย่างขายราคาเดียวกับร้านขายของชำในตัวเมือง เผลอๆ อาจจะขายถูกกว่าด้วยซ้ำ เรียกว่ามีหมดครับ ตั้งแต่อุปกรณ์สร้างบ้าน ทำครัว ขนม นม ยา มาที่นี่คือครบที่เดียวจบสำหรับร้านนี้

เอาล่ะครับ พักพอละก็นั่งรถต่อมาที่ท่าเรือต่อกันเลย ใช้เวลาราวๆ 10 – 15 นาทีเท่านั้น อย่างที่บอกว่าชุมชนบริเวณนี้ อาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนบางลางในการใช้ชีวิต ฉะนั้นเราก็จะมานั่งเรือชมธรรมชาติในช่วงสุดท้ายของวัน อาจเจอนกเหงือก หรือกระทิงก็ได้ ซึ่งน้องๆ เค้าก็บอกว่าเจอกันบ่อยอยู่นะ เรือเป็นเรือหางยาวครับ

คนขึ้นปึ้บ ก็นั่งกันออกไปเลย ลืมรับกู อิห่า!!! ๕๕๕ อ่า กลับมาใหม่ มารับกูด้วย ซึ่งจากท่าเรือไปคลองน้ำใส ใช้เวลาราวๆ 20-30 นาทีครับ ขึ้นอยู่กับว่าระหว่างทางเราจะเจออะไรบ้าง ผมชอบบรรยากาศแบบนี้จัง ชอบมากกกกกก เอาจริงคือเหมือนกุ้ยหลินเมืองไทยเลยนะ แต่ความรู้สึกคือมันอุดมสมบูรณ์กว่าและลับมากๆ เท่านั้นเอง

พอพูดถึงคำว่าลับ ก็นึกถึงสัญญาณโทรศัพท์ทันที จะบอกว่าทีนี่ ใครใช้ True ชนะไปนะครับ เพราะค่ายอื่นไม่มีสัญญาณแบบ No Service เลยล่ะ แต่ผมมองว่ามันเป็นเรื่องดีนะ จะได้ขาดหายไปจากโลกและอยู่กับตัวเองและคนรอบข้างจริงๆ บ้าง

ระหว่างทางสวยงามมากครับ เพลินๆ เลย มีหมอกเหนือน้ำด้วยนะ น้ำค่อนข้างใสเขียวมรกต ความลึกอันนี้ผมไม่รู้ แต่คิดว่าไม่น่าลึกมาก เพราะดูจากตอไม้ที่ผุด กับขอบดินที่เป็นร่องรอยของลอยน้ำที่เคยขึ้นไปสูงทิ้งร่องรอยไว้ ระหว่างทางจะมีบ้านของคนอยู่ในบางจุด และมี ตชด. เฝ้าระวังความปลอดภัยด้วย

เรือจะจอดให้เราเดินไปเล่นน้ำที่ต้นน้ำครับ ดูสิ ทากกัด เลือยังไหลไม่หยุดเลย ๕๕๕ แต่ช่วงที่เดินก็ระวังด้วยนะครับ คือโคลนลึกมาก เดี๋ยวจะเหมือนเพือนผม ลงไปถึงเอวแหนะ เกือบขึ้นมาไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้นึกจะช่วยนะ ยืนขำอยู่ ๕๕๕๕๕

ถือว่าเป็นการสปาเท้าไปด้วยทีเดียวเลยแล้วกันนะครับ ทั้งหิน ทั้งโคลน ทั้งน้ำ โอ้ยยยยย ระบมสุด แต่คือพอข้ามฝั่งไปก็อึ้งกับวิวที่เห็นเหมือนกันนะ คือดีงามอ่ะ อากาศดี บรรยายไม่ถูกเลย ให้ภาพเล่าให้ฟังแล้วกัน…

บรรยากาศแบบนี้อย่าลืมพกเครื่องดื่มเย็นๆ ไปแช่น้ำตกนะครับ แล้วเผื่อเวลานอนชิลสัก 30 นาที หลับตา ฟังเสียงน้ำ เสียงนก กลิ่นหมอก กลิ่นป่า เรียกได้ว่า ไม่กลับหมู่บ้านก็ได้ เอาเต้นท์มาตั้งนอนริมน้ำตรงนี้เลยก็ได้ อ่ะ ทีนี้มาดูภาพ Set ด้านล่างกัน คือเรียกได้ว่าเป็น The Must Point ของคลองน้ำใสเลยล่ะ

และนี่ก็เป็นเพียงกิจกรรมวันแรกของทริปเท่านั้น เรียกได้ว่าเดือดสุดๆ เรากลับจากคลองน้ำใสไปทานข้าวเย็น อาบน้ำ แล้วพักผ่อนกันโดยเร็ว น่าเสียดายที่ฟ้าไม่เปิดในช่วงที่เราไป เพราะฝนตกตลอดวัน พรุ่งนี้ตอนตีห้า เราจะเดินทางไปชมทะเลหมอกใกล้ๆ กันครับ รับรองว่าทุกคนต้องหลงรักแน่ๆ สำหรับวันแรก สนุกดีครับ : )

วันที่สองเราจะตามเก็บสถานที่ที่เหลือและศึกษาประวัติของชาวบ้านที่นี่กันครับ ว่าอพยพมาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ได้อย่างไร ซึ่ง Highlight ของวันนี้ คงจะหนีการชมน้ำตกหมอกของผาหินโยกไม่ได้ ไปดูตารางเที่ยววันที่สองกันเลยดีกว่า ปะ!!!

DAY 2

05:30 เดินทางไปยังจุดเดินเท้าขึ้นผาหินโยก

06:00 ถึงผาหินโยก

08:00 ทานอาหารเช้า

09:00 ชมอาคารประวัติศาสตร์และเรียนรู้ประวัติชุมชน

10:00 แยกย้าย

จะบอกว่าทางขึ้นชันมากนะ คือไม่มีทางราบเลย เอียงขึ้นตลอด ใครที่เหนื่อยง่ายอย่าลืมพกน้ำมาดื่มด้วย อากาศของที่นี่ไม่หนาวไม่ร้อน ไม่เหนียว เรียกได้ว่ากำลังดี เย็นสบาย กลายไอหน่อยๆ เดินราวๆ 30-45 นาที ก็ถึงผาหินโยกครับ ซึ่งพอเราขึ้นไป ก็อึ้งกับทะเลหมอกที่ไหลลงเขาอีกฝั่งยั่งกับน้ำตก

แต่เอาเข้าจริงๆ ผาหินโยกไม่ได้อยู่ในโซนของหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๙ นะครับ จะอยู่ในโซนของหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๗ หรือบริเวณในเขตหมู่บ้านโต๊ะโม๊ะแถบนั้น ความสูงจากระดับน้ำทะเลเรียกว่าไม่ได้สูงอะไรเลย หลักร้อยต้นๆ ก็เห็นทะเลหมอกแล้ว เราถามน้องๆ ว่าเห็นทุกวันไหม น้องบอกทุกวัน ไม่มีวันไหนที่มาแล้วไม่เห็น

ซึ่งหากเพื่อนๆ สังเกตุดีๆ บริเวณที่มีหมอก ก็คือบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลางนั่นเอง จริงๆ หากเพื่อนๆ มีเวลา อาจจะอยู่ที่นี่สักคืน ไปดูทะเลหมอกเหนือน้ำก็ได้ คงได้ฟีลลิ่งดีๆ ไม่น้อย แต่แค่นี้เราก็ชื่นใจแล้วนะ

เราใช้เวลาอยู่ที่นั่นค่อนข้างนานพอสมควรแหละ เพราะมันสวยมากกกกกก สวยกว่าที่คิดที่ฝันไว้ และเอาเข้าจริงๆ คือไม่ได้หวังอะไรกับทะเลหมอกที่อยู่แล้ว แต่ที่นี่ดันทำให้ตรึงใจสุดๆ

หลายคนคงสงสัย ว่ามาที่นี่ไม่ห่วงความปลอดภัยหรอ จะบอกว่าที่นี่อยู่ในเขตที่ ตชด. และหน่อยรักษาฯ ดูแลนะครับ ตอนไปเดินป่า ตชด. ก็จะเป็นคนนำทาง จริงๆ แล้วในเขตบริเวณนี้ มี ตชด. ดูแลอยู่ทุกที่ครับ ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยเลย แต่ก็ไม่ใช่ไม่ระวังเลยนะ เอาเป็นว่า อย่างน้อย มาที่นี่ ก็อุ่นใจในระดับหนึ่งครับ ปะ ไปเหอะ หิวแล้ววววว…

เช้าวันนี้ไม่มีอะไรมากครับ มีหมี่เส้น กับปาท่องโก๋ที่ชาวบ้านปั้นแป้งกันเอง บวกกับสังขยาที่ทำกันแบบสดๆ ไม่ปรุงสีใดๆ สีเลยไม่เขียวปี๋ เหมือนตามร้านในเมือง รสชาติไม่ต้องพูดถึง การันตีว่า ที่นี่ทุกอย่างอร่อย คือกินจนจุกอ่ะเอ้า!!

เที่ยวมาจนครบขนาดนี้แล้ว เรายังไม่รู้เลยว่าหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนาอยู่ตรงไหน ที่ไหน คือหมู่บ้านอะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร งั้นมานี่เลย ต่อไปนี้ จะเป็นสาระล้วนๆ

พอเราไปถึงหมู่บ้าน เราจะเห็นอนุสรณ์แสดงเกียรติประวัติตั้งตระหง่าใจกลางหมู่บ้านเลย อนุสรณ์นี้ แสงดถึงการถูกปลดปล่อยจาการการเป็นคอมมิวนิสต์ คือแสดงให้เห็นถึงการมีอิสระ เพื่อนๆ มักจะเห็นอนุสรณ์รูปร่างๆ คล้ายๆ แบบนี้ตามสถานที่หรือหมู่บ้านที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน ไม่ใช่เฉพาะแค่ที่นี่

เดินออกไปไหน จะเห็นศาลาวีรชน ซึ่งศาลาวีรชนจะเป็นที่เก็บอัฐิผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ในเหตุการณ์สำคัญๆ ในช่วงนั้นที่เรากำลังจะเล่าด้านล่างไว้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ และการรักษาซึ่งดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ คนที่นี่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชาวต่างชาตินะ น้อยมากที่จะเป็นคนไทย เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทำให้พวกเขาที่เคยอยู่ในเขตแดนมาลายู เขยิบล่นดินแดนที่อยู่อาศัยขึ้นมาฝั่งไทยเรานั่นเอง ก็จะมีจีน อินโอ มาลายู และอีกหลากหลายเลย คนที่นี่จึงใช้ภาษาจีนกันส่วนหนึ่ง และภาษาอื่นๆ อีกส่วน แต่ก็ยังคงใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสารอยู่

และเราก็เดินข้ามาจนถึงหอประวัติศาสตร์จุฬาภรณ์พัฒนา ๙ ครับ อาคารสีชมพูแห่งนี้แหละ จะรวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ทั้งหมดไว้ ให้คนรุ่นต่อรุ่น และนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านมาแถวนี้ให้ได้ฟังกัน รับรองว่า แม้แต่เพื่อนๆ ที่ไม่ค่อยเรียนประวัติศาสตร์ จะต้องชอบหอประวัติศาสตร์ที่ภายนอกดูไม่สวยหรูแห่งนี้แน่นอน ไปฟังกัน

พอเข้ามาจะมีอาม่าที่อยู่ในเหตุการณ์ และยังมีชีวิตอยู่นี่แหละ มาเล่าให้เราฟังแบบสดๆ เลย อาม่าพูดไทยไม่ค่อยชัดนะ แต่ก็พอฟังรู้เรื่อง โดยเรื่องย่อๆ จะเป็นประมาณนี้

เรื่องมันย้อนไปไกลตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เดิมชุมชนที่นี่คือคอมมิวนิสต์มาลายา ระหว่างนั้นก็เกิดลัทธินาซีในเยอรมัน และฟาสซิสต์ในอิตาลีและญี่ปุ่น จนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง เหตุการณ์ไม่สู้ดีเท่าไหร่เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นบุกสิงคโปร์จนลามมายึดครองมาเลเซีย ซึ่งในตอนนั้นคอมมิวนิสต์มาลายา ได้ร่วมกับรัฐบาลอังกฤษต่อต้านจักรพรรตินิยมญี่ปุ่นได้สำเร็จ ใช้เวลานานกว่า 3 ปี 8 เดือน

จากนั้นรั๙บาลอังกฤษจึงมอบเหรียญ “The Oder Of The British Empire” ให้แก่นายเฉินผิงผู้นำคอมมิวนิสต์มาลายา ณ กรุงลอนดอน เหมือนว่าจะดี แต่แม่งเหตุการณ์กลับกัน ในเวลาต่อมาอังกฤษดั้นกลับมายึดครองมาลายาเป็นอาณานิคมเหมือนเดิม แต่ก็ยังให้การรับรองว่าคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกฏหมายอยู่ แต่คือเข้าใจปะว่า ก็สู้มาด้วยกัน จู่ๆ มายึดกูอีกรอบ มันก็ต้องมีคนคิดต่างกันบ้าง

และความตอแหลของการเมืองก็เกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลสหพันธรัฐมาเลเซียภายใต้อังกฤษ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินให้โค่นล้มและยกเลิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศ ตอนนั้นมีการจับกุมและกวาดล้างกันครั้งใหญ่ แต่คือก่อนหน้านี่จากการที่กลุ่มคอมมิวนิสต์ถูกหักหลัง ก็ได้มีการจัดตั้งกองทัพประชาชนมาลาขึ้น โดยลักษณะเป็นกองกำลังใต้ดินเพื่อต่อต้านอังกฤษไว้ส่วนหนึ่งแล้ว หลังเหตุการณ์กวาดล้างจบลง จึงมีมติที่ประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่เหลืออยู่เพื่อต่อต้านอังกฤษตั้งแต่แรก ได้เปลี่ยนมาจัดตั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชาติมาลายาสามพวกใหญ่ๆ คือ

  • กลุ่มบุคคลร่วมมือกับอังกฤษต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา
  • กลุ่มบุคคลร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาสู้เพื่อเอกราช
  • กลุ่มบุคคลเดินตามแนวทางของซูกาโน่ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย รวมมือกับกับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายูต่อสู้เพื่อเอกราช

จึงเกิดสงครามกันใหญ่โตหลังจากนั้น และถอยร่นเข้ามาในประเทศไทย เพราะถูกกวาดล้านอย่างหนัก และเพื่อดเป็นการรักษากองกำลังที่เหลืออยู่ไม่ให้ถูกทำลาย จึงต้องอาศัยตัวอยู่กลางป่าฮาลาบาลาเพื่อความปลอดภัยของเผ่าพันธุ์

ในช่วงนั้น แม้แต่เด็กและผู้หญิงก็ต้องจับปืน แม้จะใช้ยังไม่เป็น ก็ต้องจับไว้เผื่อเวลาที่ใครมารุกราน จนในช่วงหนึ่งตั้งหลักได้ และได้เพิ่มกองกำลังนักรบโดยการประกาศรับสมาชิกเพิ่มจากชายแดนไทยและมาเลย์ แต่ก็นั่นแหละ ด้วยความที่คิดไม่ถี่ถ้วน พอรับเข้ามาก็ไม่รู้ว่าใครเป็นหนอนบ่อนไส้ เกิดการแตกหักภายใน และรั่วไหลของแหล่งข่าว จนทำให้ฝั่งอังกฤษรู้ที่อยู่ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ สูญเสียกำลังพลไปมาก และเกิดการแยกตัวของผู้นำฝ่ายต่างๆ ทั้งสามทันที

บางกลุ่มที่ยังอยู่จึงต้องรับศึกรอบด้าน จากรัฐบาลสหพันธรัฐบาลมาเลเซียภายใต้อังกฤษก็มี ฝั่งรัฐบาลไทยก็ไม่น้อยหน้า จึงทำให้พวกเขาต้องทำอาวุธยุทโธปกรณ์ใช้เอง ทั้งสิ่งพิมพ์ การรักษา รวมถึงอุปกรณ์สื่อสาร พวกเขาก็ต้องทำกันเอง ผมมองว่าเก่งมากๆ เลยนะ

เหตุการณ์ผ่านไปเรื่อยๆ จนสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป คอมมิวนิสต์จีนตัดการสนับสนุนกับทุกด้าน นึ่งทำให้สงครามครั้งนี้สงบศึก และในปี 1989 หรือ พ.ศ.2332 มีการเจรจาสันติภาพร่วมกัน โดยใช้แนวนโยบาย 66/23 เนื้อหามีอยู่ว่า ทางพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา จะยุติการต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธ มีการสลายกองกำลัง ทำลายอาวุธ เพื่อยกเลิกสงครามนั่นเอง

ซึ่งภายในก็จะเก็บของทุกอย่างที่ใช้งานจริงๆ ในตอนนั้นไว้ให้คนรุ่งหลังได้ดูกันครับ ผมนี่อึ้งไปเลยนะ ไปดูภาพกันว่ามีอะไรแปลกตา และทำให้เราอึ้งกับความเป็นอยู่ในสมัยนั้นบ้าง

ภาพด้านบนนี่คือเครื่องมือทันตแพทย์ที่เอาไว้ใช้งานจริงๆ ครับ โหดมาก

เห็นเลื่อยฝั่งขวาไหม อันนี้คือเอาไว้ตัดขาตัดแขนเวลาโดนระเบิด

อันนี้จะเป็นที่ทำระเบิดครับ กำลังกลึงค้างไว้เลยล่ะ แต่สงครามจบไปก่อน เลยเลิกทำไปเลย ๕๕๕

ภาพเก่าๆ ที่เพื่อนๆ เห็นในหอประวัติศาสตร์ คือภาพที่ถ่ายจากกล้องด้านบนเครื่องนี้ตัวเดียวครับ จ๊าบมากๆ

ดูการทำภาพพาโนลาม่าสมัยนั้นเสียก่อน เก๋สุดๆ และจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ ได้ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธและสลายกองทัพเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามข้อตกลงนามสัญญาสันติภาพ ๓ ฝ่าย เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๓๒ กองทัพภาคที่ ๔ โดยพลทหารราบที่ ๕ ได้จัดทำโครงการรับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยขึ้น เพื่อรองรับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย โดยมีระยะเวลาของโครงการ ๖ ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๓๓ – ปีงบประมาณ ๒๕๓๘ โดยจัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นเป็น ๔ หมู่บ้าน เรียกว่า หมู่บ้านรัตนกิตติ ๑,,และ ๔ ตามลำดับ

ต่อมา ศาสตราจารย์ดอกเตอร์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระประสงค์จะทำการพัฒนาโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และ ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่แนวชายแดนจึงได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมทรงรับหมู่บ้านรัตนกิตติทั้ง ๔ หมู่บ้านเข้าร่วมโครงการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และทรงพระราชทานชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๙,๑๐,๑๑,๑๒ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๖

และก่อนที่ผู้นำเฉินผิงจะจากไป ในช่วงปี 2545 ก็ได้ทำหนังสือยื่นไปที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งช่วงนั้นคือนายกทักษิณ ชินวัตร เพื่อขอเชื้อชาติเป็นชาติไทย โดยผลจากการยื่นเรื่องไป ก็ทำให้คนทั้งหมู่บ้าน ได้สัญชาติไทยตามความคาดาหมายทุกคน

พอฟังเสร็จผมนี่แอบรักในประวัติของหมู่บ้านแห่งนี้ไปโดยปริยาย และคิดว่าจะกลับมาอีกแน่ๆ ครับ รู้สึกว่าเป็นอีกบ้านหนึ่งไปเลย อ่ะ ก่อนจากกันไป ก็เขียนหนังสือเข้าชมหอประวัติศาสตร์แห่งนี้ไว้ และให้กำลังใจคนรุ่นหลังให้ช่วยกันรักษาดินแดนและหมู่บ้านแห่งนี้ไว้ให้ดีที่สุด

ปัจจุบันยังมีอาม่าอากงและคนรุ่นหลังที่ยังมีชีวิตจริงๆ ในช่วงสงครามอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ครับ เราก็ได้แต่หวังให้ลูกร้านของท่านทั้งหลาย รักบ้านเกิด และสืบสานเจตจำนงของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ให้รู้รักรู้ปกป้องแผ่นดินและสัญชาติอันที่ไม่ได้มาง่ายๆ แห่งนี้อย่างนี้ไว้นานเท่าที่จะนานได้ แม้จะมีบางครอบครัวย้ายออกไปบ้างแล้วก็ตาม

ทริปนี้จบลงด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างน่าภูมิใจของคนที่นี่ครับ ถ้าเข้าใจและสัมผัสกับคนที่นี่จริงๆ ผมเชื่อว่าทุกคนจะต้องรักหมู่บ้านจุฬาภรณ์ทั้งหมดในบริเวณนี้ ไม่ใช่เฉาพะแค่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๙ และผมขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้อ่านทุกคนเดินทางไปเยี่ยมเยียนชุมชนที่นั่นครับ เขาจะได้ไม่เหงา และเพิ่มกราฟเศรษฐกิจของหมู่บ้านให้สูงขึ้นด้วย

เอาล่ะ ถึงเวลาต้องลาจาก สถานนีต่อไป เราจะเดินทางไปเดินป่าปีนเขากันที่ ” ฆู นุ ง คี รี ปั ต ” อยากให้เพื่อนๆ กด See First ในเพจ กด Subscribe ใน youtube ติดตามทริปต่อไปของเราได้เลย แล้วเจอกันระหว่างทางเร็วๆ นี้แน่นอน บ๊ะบ่ายยยยยยย > <